บทที่ 3 วิธีการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว

การจัดการท่องเที่ยว

                 นักจัดบริการท่องเที่ยวที่ดี  คือบุคคลที่ไม่อยู่นิ่ง  ต้องเป็นผู้ที่มีความคิดในการสร้างสรรค์  เพื่อให้เกิดการขายการท่องเที่ยวให้มากที่สุด  และต้องเป็นผู้มองสังคมกว้าง รู้จักสังเกต  เพราะในธุรกิจทุกชนิดย่อมมีการแข่งขันกัน  เพื่อให้ธุรกิจของตนนั้นเป็นที่รู้จักและสนใจของลูกค้า  ดังนั้น  ผู้จัดการบริการท่องเที่ยวจะต้องสังเกตการเคลื่อนไหวของตลาด  พิจารณาคู่แข่งในตลาด  และหาวิธีการที่จะโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวหรือลูกค้ารู้จักและสนใจในบริษัทของตน  เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จต่อไป

สิ่งที่ผู้ดำเนินการจัดการท่องเที่ยวจะต้องคำนึงถึงในการแข่งขันในตลาด  คือ
1.การส่งเสริมการขาย   หมายถึง  การทำให้เกิดการขายให้มากที่สุด  การส่งเสริมการขาย  อาจทำโดยมีบริการพิเศษเรื่อง  ที่พัก  อาหาร  ของแถม  เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ  จูงใจนักท่องเที่ยว  และมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน
2. การบริการ  หมายถึง  การสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว  และให้เขากล่าวถึงและชักชวนให้ นักท่องเที่ยวอื่น ๆ มาใช้บริการ  หรือตัวเขาเองกลับมาใช้บริการอีก
3. การพิจารณาราคา  หมายถึง ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจด้านการบริการ  ซึ่งก็ต้องมีการแข่งขันกัน  นักท่องเที่ยวสามารถเปรียบเทียบราคาได้จากการบริการและคุณภาพที่เหมาะสมการกำหนดราคาจึงต้องคำนึงถึงคุณภาพด้านการบริการและคู่แข่งขันด้วย




            การจัดการขายบริการธุรกิจการท่องเที่ยวกระทำได้หลายวิธี  อีกทั้งเป็นเรื่องที่ทั้งท้องถิ่น   รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ    ที่เกี่ยวข้องและเอกชนต้องร่วมมือกัน   เพื่อเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวได้ข้อมูลการท่องเที่ยวที่ถูกต้อง  การโฆษณาประชาสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะสร้างเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องให้เข้าใจตรงกัน
                การโฆษณา  หมายถึง  การเผยแพร่สินค้าหรือบริการ  เพื่อมุ่งส่วนยึดครองทางการตลาด คือ ลูกค้าสนใจและซื้อบริการ
                การประชาสัมพันธ์  หมายถึง  การเผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนรับรู้โดยมิได้มุ่งหวังจะจำหน่ายสินค้าหรือบริการ  แต่มุ่งจะยึดครองจิตใจ  ความนิยมชมชอบจากประชาชนการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเลือกเดินทางไปพักผ่อนศึกษาหาความรู้ได้ทันตามความพอใจและตามสภาพฐานะที่จะอำนวยของแต่ละบุคคล 


เครื่องมือที่จะช่วยกระจายหรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ  ได้แก่
1. ศูนย์ประชาสัมพันธ์ของท้องถิ่นหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน
2. หนังสือพิมพ์ , หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
3. นิตยสาร  เช่น  อสท. , เที่ยวรอบโลก , คู่มือท่องเที่ยวของบริษัทน้ำมัน
4. วิทยุ ในรูปของการสปอนเซอร์รายการ
5. โทรทัศน์ ในรายการโฆษณาภาคปกติ  หรือจัดในรูปแบบ  SPOT  T.V.  ใช้เวลา15 -  30   นาที  หรือการจัดรายการในรูปของการนำเที่ยว
6.  ป้ายโฆษณากลางแจ้ง

7. แผ่นปลิวโฆษณา , แผ่นพับ
8. อินเตอร์เน็ต   ซื้อขายทัวร์ผ่านเว็บไซต์ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.2535  ปัจจุบันพบว่า มีเจ้าของเว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งลูกค้าในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ที่พักประเภทต่าง ๆ ร้านค้า สถานบันเทิง และแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ให้ความสนใจลงโฆษณาเกี่ยวกับธุรกิจของตนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และจากหน้าโฆษณาที่ปรากฏนั้น ทำให้มีความก้าวหน้าเพิ่มเติม คือสามารถติดต่อลูกค้า รับจองห้องพัก และขายแพ็คเก็จทัวร์ให้ผู้ซื้อได้โดยตรง มีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไปเข้าบัญชีเจ้าของกิจการได้ ซึ่งบริษัทผู้เป็นเจ้าของเว็บไซต์จะได้รับผลประโยชน์เป็นค่านายหน้า เมื่อมีการซื้อขายกันขึ้น     และในบางกรณีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต สามารถใช้บริการจองห้องพัก หรือแพคเก็จทัวร์ผ่านทางบริษัทเจ้าของเว็บไซต์ก็ได้ เพราะบริษัทสามารถซื้อห้องพักและแพคเก็จทัวร์มาไว้กับบริษัทเอง แล้วนำไปขายต่อผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว





โครงสร้างทางการท่องเที่ยว  ที่ถือเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น คือ
                   1. โครงสร้างพื้นฐาน  ที่เป็นการก่อสร้างหลัก ๆ เช่น ถนน  สะพาน  สนามบิน  สถานีรถโดยสารหรือสถานีรถไฟ  ระบบการสื่อสารคมนาคม  เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยว  ในการเดินทางไปสู่จุดหมายอย่างสะดวกและปลอดภัย  สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณจากภาษีที่ประชาชนเป็นผู้เสีย
                   2. โครงสร้างระดับสูง ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยว  เช่น  สถานที่พักแรม  ภัตตาคาร  และร้านอาหาร  บริการต่าง ๆ แหล่งจับจ่ายซื้อสินค้า ศูนย์การค้า  สถานบันเทิง  โดยปกติเอกชนเป็นผู้สร้าง  เป็นผู้จัดหาในรูปของธุรกิจ ซึ่งบางแห่งอาจมีหน่วยงานของรัฐเข้าไปดูแลหรือสนับสนุนโครงสร้างทั้ง 2 ประเภทเมื่อรวมกับแหล่งท่องเที่ยวก็ถือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวได้เป็นอย่างดีการเผยแพร่ข้อมูลการท่องเที่ยวควรกระทำสม่ำเสมอทั้งในช่วงระยะเวลาหรือฤดูกาลต่าง ๆ   ของแต่ละท้องถิ่น   แต่ละภาค  และทั้งบอกฤดูกาล  เพราะการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจของแต่ละท้องถิ่นเกิดการหมุนเวียน  ประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้   เพราะนักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางท่องเที่ยวย่อมต้องใช้จ่าย รายจ่ายของนักท่องเที่ยวก็คือรายได้ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น นอกเหนือจากการทำอาชีหลักคือทำนาทำไร่ ว่างก็ทำและขายของที่ระลึกสินค้าพื้นเมือง การใช้บริการของมัคคุเทศก์ในท้องถิ่น การใช้บริการยานพาหนะ ฯลฯ ช่วยให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอาชีพ    มีงานทำ    ลดปัญหาการว่างงาน  ค่าครองชีพของประชาชนในท้องถิ่นดีขึ้น  ทำให้ไม่ทิ้งถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในเมืองหรืออพยพทิ้งถิ่นฐานเดิม ในการจัดธุรกิจการท่องเที่ยวแต่ละท้องถิ่นจะต้องพิจารณาแหล่งท่องเที่ยว   ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญคงสภาพความงามตามธรรมชาติ  หรือดัดแปลงให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด   มีบริการด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยซึ่งในระหว่างการเดินทาง  การค้างแรมและในขณะแวะชมแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ    



ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นจะต้องช่วยกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในอันที่จะชักชวนนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวยังท้องถิ่นของตนได้ซึ่งการกระทำดังต่อไปนี้  ก็ถือเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง ซึ่งคนในท้องถิ่นช่วยกันทำได้  ดังนี้
1. พัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว เช่น  โบราณสถาน  วัด บนอุทยานต่าง ๆ ให้สะอาดน่าชมและพักผ่อนหย่อนใจ  และคงสภาพตามธรรมชาติหรือตามสภาพที่ควรจะเป็นอยู่ให้อยู่ในสภาพดี
2. พาหนะที่ใช้เดินทางมีสภาพสมบูรณ์มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ
3. จัดสถานที่พัก  โรงแรม  บังกะโล  แพ  ให้สะอาดมีเครื่องอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม
4. จัดการดูแลอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย  ทั้งระหว่างการเดินทางและในสถานที่พักแก่ นักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ
5. มีแผนที่ที่พักของท้องถิ่นติดตั้งหรือแจกแก่นักท่องเที่ยว
6. มีป้ายเขียนบอกชี้ทางหรือบอกชื่อสถานที่ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
7. มีส้วมสาธารณะที่สะอาดถูกสุขลักษณะในบริเวณใกล้เคียง
8.จัดให้มีมัคคุเทศก์นำเที่ยวของท้องถิ่นที่ได้รับการอบรมมาแล้วจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย    หรือสถาบันต่าง ๆ   ที่เปิดสอนวิชามัคคุเทศก์โดยเฉพาะ
9. ประชาชนในท้องถิ่นมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีต่อนักท่องเที่ยว
10.จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในท้องถิ่น
11.จัดให้มีการควบคุมราคาค่าบริการ  ค่าพาหนะนำเที่ยวในท้องถิ่น   ให้อยู่ในระดับราคาปานกลาง   และในราคาเดียวกัน
12.จัดสถานที่จำหน่ายของที่ระลึกให้เป็นระเบียบ   ควบคุมคุณภาพของสินค้าและราคาให้มีมาตรฐานเดียวกัน
13.จัดให้มีอาหารสะอาดมีคุณภาพและราคาพอสมควร


การจัดบริการนำเที่ยวสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ   เพราะค่าบริการนำเที่ยวที่เสนอแก่
นักท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวในการที่จะตัดสินใจเลือกใช้บริการ  ดังนั้น  ธุรกิจจัดนำเที่ยวจะต้องสามารถคิดคำนวณรายจ่ายทั้งหมดได้   เพื่อหาค่าบริการเฉลี่ยต่อรายบุคคล  เสนอให้
นักท่องเที่ยวพิจารณาควบคู่กันกับแผนการนำเที่ยว  ในการเตรียมรายการนำเที่ยว ผู้จัดนำเที่ยว จะต้องนำข้อมูลทั้งสิ้นที่ได้จากการเตรียมเส้นทางมาศึกษา วิเคราะห์  และกำหนด  ได้แก่
                1.  ระยะเวลาในการท่องเที่ยวตามเส้นทาง  ซึ่งอาจเป็นครึ่งวัน  หนึ่งวัน  มากกว่าวัน  จนถึงหนึ่งสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น   การกำหนดระยะเวลานี้จะสัมพันธ์กับการคิดราคาค่าที่พักแรม  ที่ต้องกำหนดระเอียดเป็นวัน  :  คืน   เช่น  2 วัน 1 คืน , 3 วัน 2 คืน  เป็นต้น
                2.  กิจกรรมการท่องเที่ยว  เช่น ชมแหล่งท่องเที่ยว ซื้อสินค้า  ชมการแสดง พักผ่อนตามอัธยาศัย
                3.  สถานที่รับประทานอาหารสถานที่พักแรม ตลอดจนสถานบริการต่างๆสำหรับ
นักท่องเที่ยว
                4.  พาหนะที่ใช้ในการบริการและท่องเที่ยว      เช่น    เครื่องบิน รถโค้ช , รถโค้ช เรือ , รถไฟ รถโค้ช , รถโค้ช แพ , แพ ช้าง ฯลฯ
                5.  ราคาค่าใช้จ่ายตลอดรายการ  ซึ่งประกอบด้วย ค่าพาหนะ  ค่าอาหาร  ค่าที่พัก  ค่าบริการนำเที่ยว  ค่ามัคคุเทศก์  ค่าบริการของแหล่งท่องเที่ยว  เช่น ค่าผ่านประตู  ค่าเข้าชมการแสดง ค่าเป็นต้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ  ตั้งแต่การเตรียมการ การประชาสัมพันธ์ จนเสร็จสิ้นรายการนำเที่ยว  บวกผลกำไร  และภาษี จะได้เสนอราคาขาย ของรายการนำเที่ยว
                6.  เงื่อนไขของค่าใช้จ่ายตามรายการ  โดยทั่วไปทัวร์เหมาจ่ายจะไม่รวมค่าอาหารบางมื้อ
ที่ไม่ ปรากฏอยู่ในกำหนดการ  ค่าภาษีสนามบิน  ค่าภาษีเดินทาง  ค่าค่าบริการซักรีดเสื้อผ้า  ค่าโทรศัพท์
ค่าใช้จ่ายส่วนตัว  และค่าอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่นักท่องเที่ยวสั่งพิเศษนอกรายการ  เงื่อนไขเหล่านี้ต้องกำหนดไว้ในกำหนดการให้นักท่องเที่ยวทราบ


การแบ่งส่วนบริหารงานในบริษัทนำเที่ยว
โดยทั่วไปบริษัทนำเที่ยวจะแบ่งส่วนบริหารงานออกเป็น 3 ฝ่ายใหญ่ ๆ ได้แก่
1.ฝ่ายขาย
2.ฝ่ายจัดการท่องเที่ยว
3.ฝ่ายการเงิน
ในแต่ละฝ่ายก็แบ่งย่อยออกเป็นแผนก ๆ ตามความรับผิดชอบ ดังนี้
1. ฝ่ายขาย
1.1 แผนกส่งเสริมการขาย หรือประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่
1.1.1หาตลาดใหม่ ๆ
1.1.2วิเคราะห์ตลอดท้องถิ่นในระดับภูมิภาค และตลาดต่างประเทศ
1.1.3วางแผนกำหนดราคา
1.1.4ประชาสัมพันธ์รายการท่องเที่ยว
1.2แผนกเผยแพร่โฆษณา มีหน้าที่
1.2.1ออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น แผ่นเย็บ แผ่นพับ และหนังสือเล่มเล็ก ๆ ตลอดจนสิ่งอื่น ๆ เช่น วีดีโอ หรือภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมการขาย
1.2.2ประสานงานกับแผนกส่งเสริมการขายเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของบริษัท

2. ฝ่ายจัดการท่องเที่ยว
2.1  แผนกธุรการ มีหน้าที่
2.1.1  ดูแลด้านเอกสารของสำนักงาน
2.1.2  ดูแลด้านข้อมูลข่าวสาร
2.1.3 โต้ตอบจดหมายสิ่งพิมพ์
2.1.4 จัดส่งเอกสาร
2.2 แผนกท่องเที่ยวภายในประเทศ
2.3 แผนกท่องเที่ยวต่างประเทศ
2.4 แผนกท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
2.5 แผนกท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเล็กและท่องเที่ยวแบบอิสระ
2.6 แผนกท่องเที่ยวโดยเรือเดินทะเล และท่องเที่ยวโดยการเช่าเหมาลำ
2.7 แผนกท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลและจัดการประชุม
2.8    แผนกท่องเที่ยวเหมาจ่าย
2.5    – 2.8  มีหน้าที่
                        1. จัดการเดินทางให้แก่ลูกค้าทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม
                        2. จัดทำกำหนดการ
                        3. กำหนดราคา
                        4. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                        5. จัดทำแฟ้มข้อมูลนักท่องเที่ยว
2.9  แผนกยานพาหนะ มีหน้าที่จัดหายานพาหนะในการขนส่งนักท่องเที่ยว
2.10  แผนกบริหารงานบุคคล มีหน้าที่
                        2.10.1 สรรหาและบรรจุพนักงาน
                        2.10.2  ฝึกอบรมพนักงาน
2.11  แผนกรับจอง มีหน้าที่
        2.11.1       รับจองที่พัก
        2.11.2       จำหน่ายบัตรโดยสารรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน
        2.11.3       จำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดงต่าง ๆ
        2.11.4       สำรองที่พัก และที่นั่งโดยสารตลอดจนที่นั่งชมการแสดง
 3.   ฝ่ายการเงิน มีหน้าที่ด้านการเงินและบัญชีรับ จ่ายทุกประเภทของบริษัท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จุดประสงค์รายวิชา เพื่อให้ 1. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเบื้องต้นพื้นฐานงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวองค์ประกอบ 2. ปัจจัยสนับสนุน...